สถานที่ : สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ผู้ว่าจ้าง : สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
วันที่เริ่มโครงการ : 12 มี.ค 2556
วันสิ้นสุดโครงการ : 11 มี.ค 2557

วัตถุประสงค์/เป้าหมายโครงการ

  1. เพื่อสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ
  2. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการเงินและการลงทุนและแนวทางในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการ
  3. เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนและดำเนินธุรกิจด้านไอซีทีของผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อมให้มากขึ้น
  4. เพื่อสร้างปัจจัยและสภาพแวดล้อม รวมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกที่เอื้อต่อการลงทุนและประกอบธุรกิจไอซีทีของผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม
  5. เพื่อให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อมมีช่องทางการลงทุนและประกอบธุรกิจไอซีทีได้กว้างขวางขึ้น

ขอบเขตโครงการ

  1. นำมาตรการที่ได้จากการศึกษาการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อมในปี พ.ศ.2555 มาจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อใช้ในการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อมเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบ อาทิ
    1. มาตรการการดำเนินการเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการ SMEs เกี่ยวกับการขอสินเชื่อกับสถาบันการเงินในระบบ
    2. มาตรการการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนโดยเฉพาะผู้ประกอบการซอฟต์แวร์
    3. มาตรการการเข้าถึงแหล่งเงินทุนอื่นๆ
    4. มาตรการสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ICT
    5. มาตรการการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากต่างประเทศ อย่างน้อย 2 ประเทศ
    6. มาตรการทางด้านภาษีสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ICT เพื่อการลดหนี้นอกระบบ ตลอดจนมาตรการช่วยเหลือด้านเงิน ดอกเบี้ย ค่าธรรมเนียม
  2. จัดทำแนวทางการจัดตั้งศูนย์ให้คำปรึกษาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการไอซีทีขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งประกอบด้วย โครงสร้าง อำนาจหน้าที่ บุคลากร งบประมาณ เป็นต้น
  3. ศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ประกอบการไอซีทีขนาดกลางและขนาดย่อมโดยศึกษาจากกรณีตัวอย่างจากต่างประเทศ
  4. จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับแผนปฏิบัติการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบให้ผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม แนวทางการจัดตั้งศูนย์ที่ปรึกษาและความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุนสำหรับผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม ตามข้อ 5.1 5.2 และ 5.3 ตามลำดับ อย่างน้อย 2 ครั้ง ครั้งละไม่น้อยกว่า 20 คน
  5. ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการหาแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการฯ ทั้งจากแหล่งเงินทุนในประเทศและต่างประเทศ ทั้งในลักษณะเงินกู้ หรือการร่วมทุน
  6. จัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อเผยแพร่ความรู้ในโครงการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการเทคโนโลยีสารสนเทศขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ดังนี้
    • จัดสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการในกรุงเทพ 1 ครั้ง โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมงานไม่น้อยกว่า 150 คน โดยประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ประกอบการและหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมงาน และจัดทำรายงานรวมทั้งการประเมินผลการจัดงานเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว รวมทั้งรับผิดชอบ ค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งปวง ได้แก่ การจัดหาสถานที่ จัดหาวิทยากรที่มีชื่อเสียงและประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจไอซีทีร่วมบรรยาย อย่างน้อย 2 คน ค่าอาหารกลางวันและอาหารว่าง จัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการสัมมนา และเอกสารประกอบการสัมมนา อย่างน้อย 170 ชุด เป็นต้น
    • จัดพิมพ์เอกสารเผยแพร่ในขนาด A5 พิมพ์ 4 สี ปกหน้าและปกหลัง มี Spot UV เฉพาะจุดในรูปแบบเอกสาร จำนวน 200 ชุดและไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 500 ชุด เพื่อใช้ประกอบในการสัมมนา
    • ประชาสัมพันธ์การจัดงานสัมมนาทั้งก่อนการจัดงาน ระหว่างการจัดงานและหลังการจัดงานผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สื่อหนังสื่อพิมพ์ สื่อวิทยุ และสื่อสังคมออนไลน์ เป็นต้น
  7. จัดทำแผนและดำเนินการประชาสัมพันธ์โครงการฯ เผยแพร่ผลการดำเนินโครงการฯ ช่วงระหว่างการดำเนินงานโครงการฯ และต่อเนื่องในการดำเนินงานต่อไปในอนาคต เพื่อสร้างความตระหนักรู้และช่องทางในการส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการจากหน่วยงานภาครัฐ
  8. จัดฝึกอบรมหลักสูตรที่ปรึกษาด้านการส่งเสริมการเข้าถึงแหล่งเงินทุนให้กับข้าราชการและเจ้าหน้าที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จำนวน 5-8 คน ระยะเวลาไม่ต่ำกว่า 15 ชั่วโมง โดยรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการจัดงานทั้งปวง ได้แก่ จัดหาวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการเงิน การจัดทำแผนธุรกิจ และการขอสินเชื่อ ค่าอาหารกลางวันและอาหารว่าง จัดหาอุปกรณ์ที่ใช้ในการอบรม และเอกสารประกอบการอบรม
  9. ดำเนินการให้คำปรึกษาและข้อเสนอแนะในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการไอซีทีขนาดกลางและขนาดย่อมไม่น้อยกว่า 10 ราย โดยผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประสานงานมาประจำที่กระทรวงฯ อย่างน้อย 1 คน
  10. รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการประชุมคณะกรรมการตรวจรับ/คณะทำงาน/หรือประชุมร่วมระหว่างหน่วยงานต่างๆ อย่างน้อย 10 ครั้ง